มาเก๊าเร่งเครื่องผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวเต็มสูบ: โอกาสหรือความท้าทายสำหรับไทย

1.4K



 

มาเก๊าเร่งเครื่องผลักดันธุรกิจท่องเที่ยวเต็มสูบ: โอกาสหรือความท้าทายสำหรับไทย

          เมื่อพูดถึงมาเก๊า ใคร ๆ ก็คงจะคิดไปถึงคาสิโนกันเป็นอย่างแรก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ทำรายได้มหาศาลที่เป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของเขตบริหารพิเศษแห่งนี้ของจีน โดยเมื่อปี 2559 เฉพาะรายได้จากคาสิโนนั้นสูงถึง 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 62.5 ของ GDP ทีเดียว ซึ่งรายได้นี้ก็มาจากนักท่องเที่ยวมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าไปเฉลี่ยถึงวันละ 8.5 หมื่นคน หรือกว่าร้อยละ 13 ของประชากร รวมทั้งปีมีนักท่องเที่ยวกว่า 30 ล้านคน (พอ ๆ กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาประเทศไทย) ซึ่งเมื่อเทียบกับขนาดประชากรเพียง 6.5 แสนคน (ไม่ถึง 1 ใน 10 ของกรุงเทพฯ) และพื้นที่เพียง 30 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่ากรุงเทพฯ กว่า 50 เท่า!) ก็เรียกได้ว่ามหาศาล และเป็นปัจจัยสำคัญให้มาเก๊ามีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรถึงเกือบ 7 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของมาเก๊า โดยคิดเป็นถึงกว่าครึ่งของการจ้างงานทั้งหมด

          ทั้งนี้ กว่าร้อยละ 90 ของนักท่องเที่ยวที่มามาเก๊ามาจากภูมิภาคเอเชีย โดยกว่าร้อยละ 66 มาจากจีน ตามด้วยฮ่องกง (ร้อยละ 20.7) ไต้หวัน (ร้อยละ 3.5) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 2.1) และญี่ปุ่น (ร้อยละ 1) ส่วนตลาดนอกภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดมาจากสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.6 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และก็คาดว่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า เอเชียก็ยังจะเป็นบ่อเงินบ่อทองให้แก่การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวในมาเก๊าต่อไป

          อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้อาจจะยังไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับมาเก๊า เนื่องจากในแผนแม่บทการท่องเที่ยวฉบับแรกของสำนักงานการท่องเที่ยวรัฐบาลมาเก๊า (Macao Government Tourism Office: MGTO) ที่เพิ่งออกมาสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวไว้ที่ 40 ล้านคนภายในปี 2568 และยังได้วาง 8 เป้าหมายหลัก ได้แก่ (1) เพิ่มความหลากหลายให้แก่ผลิตภัณฑ์และประสบการณ์การท่องเที่ยว (2) พัฒนาทักษะและคุณภาพการบริการ (3) เปลี่ยนโฉมมาเก๊าให้เป็นจุดหมายท่องเที่ยวที่สามารถใช้เวลาอยู่ได้หลายวันและขยายตลาดท่องเที่ยวมูลค่าสูง (4) ใช้รูปแบบการพัฒนาเมืองที่เหมาะสมที่สุด (5) บริหารจัดการความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว (6) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (7) สนับสนุนความร่วมมือในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ (8) เสริมความแข็งแกร่งของมาเก๊าในฐานะเมืองท่องเที่ยวหลักในภูมิภาคและชุมชนด้านการท่องเที่ยวระดับสากล

          ขณะเดียวกัน แผนดังกล่าวต้องการจะเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของมาเก๊าให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น โดยทำให้รายรับจากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ธุรกิจคาสิโนเพิ่มเป็น 2 เท่า (แม้ว่าจำนวนคาสิโนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน) โดยเน้นการท่องเที่ยวอื่น ๆ และธุรกิจ MICE รวมทั้งต้องการขยายระยะเวลาการพำนักของนักท่องเที่ยวให้นานขึ้น (จากปัจจุบันเฉลี่ย 2.1 วัน ในขณะที่ระยะเวลาพำนักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวที่ไปลาสเวกัสอยู่ที่ 4.4 วัน) โดยจะใช้ความได้เปรียบด้านประวัติศาสตร์ของมาเก๊าที่เป็นแหล่งบรรจบแห่งอารยธรรมตะวันตกกับตะวันออก โดยเฉพาะไฮไลต์ด้านการท่องเที่ยวอย่างเขตประวัติศาสตร์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2548 ในการสร้างประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของท้องถิ่น นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลมาเก๊ายังได้ลงนามความร่วมมือโครงการ smart city ระยะเวลา 4 ปีกับบริษัทอาลีบาบาคลาวด์ ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาข้อติดขัดเรื่องเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มาเก๊าประสบ โดยเฉพาะเรื่องการรองรับการชำระเงินผ่าน mobile application เพื่อเอาใจลูกค้ารายใหญ่จากจีนที่ส่วนใหญ่ไม่รู้จักกันแล้วว่าเงินสดหน้าตาเป็นยังไง

          พร้อมกันนี้ มาเก๊าก็เตรียมขยายสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่การมาเยือนของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการขยายสนามบินเพื่อให้รองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น การเพิ่มความสะดวกในการเดินทางผ่านแดนทั้งทางบกและทางน้ำ (ซึ่งเฉพาะในปี 2559 ก็มีผู้ใช้บริการเรือเฟอร์รี่เข้าออกมาเก๊าถึง 25 ล้านคน) และที่ขาดไม่ได้ก็คือความหวังที่ตั้งไว้กับโครงการอภิมหาโปรเจคต์อย่างสะพานเชื่อมฮ่องกง – จูไห่ – มาเก๊า ที่เป็นมหากาพย์ที่จบไม่ลง เจอโรคเลื่อนมาเรื่อย ๆ แต่ก็คาดว่าน่าจะสามารถเปิดใช้ได้ในปี 2561 นี้ และจะเป็นการเชื่อมต่อทางบกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ระหว่างทั้ง 3 เมืองปากแม่น้ำจูเจียง (แม่น้ำเพิร์ล) ซึ่งก็น่าจะทำให้มีผู้หันมาใช้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารกันมากขึ้น

          แม้ว่าตัวเลขเป้าหมายนักท่องเที่ยวในแผนแม่บทที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณร้อยละ 30 อาจไม่สูงนักเมื่อเทียบกับว่าเป็นการเติบโตใน 8 ปีให้หลัง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าในช่วง 16 ปี (จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 9.2 ล้านคนในปี 2543) แต่เมื่อดูจากสภาพการณ์ปัจจุบันทั้งปัจจัยภายในและภายนอกของมาเก๊าแล้ว ก็กล่าวได้ว่าหนทางข้างหน้ายังมีความท้าทายอยู่อีกไม่น้อย

          ความท้าทายประการแรกก็คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของทั้งโลกคิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 7.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอนาคตการเติบโตที่สดใสในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า นั่นเป็นสาเหตุให้ใครต่อใครก็พากันงัดเอาไม้เด็ดของตนมาแข่งขันแย่งตลาดท่องเที่ยวกันอุตลุด (เช่น ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน…) โดยหลายแห่งก็พยายามสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้มาเก๊าอาจจะแข่งกะเขายากหน่อย เพราะลำพังปัจจุบันพื้นที่ใช้สอยก็กระเบียดกระเสียรกันเต็มที แถมเขตเหิงฉินของจีนที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงกันแท้ ๆ (แต่มีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่ามาเก๊ากว่า 3 เท่า) ก็ยังเดินหน้าสร้างแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์การประชุมและนิทรรศการแข่งกับมาเก๊าอย่างไม่เกรงอกเกรงใจ จะแข่งไม่ได้ก็เพียงเรื่องคาสิโนเพราะรัฐบาลจีนไม่อนุญาต แต่อีกคู่แข่งที่น่ากลัวก็คือญี่ปุ่นที่ธุรกิจคาสิโนได้กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมายแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ซึ่งทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการพากันหูผึ่ง โดยมองว่าญี่ปุ่นจะกลายเป็นตลาดคาสิโนที่ใหญ่เป็นอันดับสองในเอเชียรองจากมาเก๊า ด้วยว่าทุกวันนี้ญี่ปุ่นเล่นปาจิงโกะอย่างเดียวก็ปาเข้าไปปีละกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว (มากกว่ารายได้จากทั้งลาสเวกัสและมาเก๊ารวมกัน และคิดเป็นกว่าร้อยละ 4 ของ GDP !!!) ดังนั้นการแข่งขันจากภายนอก ทั้งในส่วนของธุรกิจคาสิโนและที่ไม่ใช่คาสิโน ก็อาจมาช่วยแบ่งเค้กตลาดท่องเที่ยวจากมาเก๊าไปได้บ้างไม่มากก็น้อย

          แต่ความท้าทายที่ออกจะน่าเป็นห่วงกว่าน่าจะมาจากปัจจัยภายใน หรือข้อจำกัดของมาเก๊าเองมากกว่า เนื่องจากทุกวันนี้มาเก๊าก็แบกรับนักท่องเที่ยวที่มากกว่าจำนวนประชากรถึง 43 เท่าในแต่ละปี แถมยังมีพื้นที่คับแคบ  ทำให้เกิดปัญหารุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องการจราจรและความแออัดของแหล่งท่องเที่ยว จนกระทั่งคนท้องถิ่นเองต้องหลีกเลี่ยงไม่เดินทางไปในย่านเหล่านี้ในช่วงสุดสัปดาห์หรือเทศกาล ซึ่งทางการท่องเที่ยวมาเก๊าเองก็ตระหนักดีและได้สะท้อนไว้ในแผนแม่บทฯ ด้วยแล้ว อย่างไรก็ดี นาย Teleb Rifai เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ก็ให้ความเห็นว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าทุกคนอยากจะไปที่เดียวกัน ในเวลาเดียวกัน และฤดูกาลเดียวกัน พร้อมกับเสนอให้พยายามกระจายนักท่องเที่ยวออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ โดยรอบมากขึ้น โดยกล่าวว่าสามารถทั้งรักษามรดกทางวัฒนธรรม เพิ่มการท่องเที่ยว และทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความสุขไปพร้อมกันได้

          ในขณะเดียวกัน นาง Maria Helena de Senna Fernandes ผู้อำนวยการ MGTO ก็ระบุถึงความตั้งใจที่จะใช้ Greater Bay Area เป็นเวทีส่งเสริมการท่องเที่ยวของมาเก๊าในอนาคต โดยร่วมมือกับสมาชิกอื่น ๆ ได้แก่ 9 เมืองในมณฑลกวางตุ้งและฮ่องกงอย่างใกล้ชิด เพื่อก้าวออกไปข้างนอกมากขึ้น โดยเฉพาะตามเส้นทาง“Belt and Road Initiative” ของผู้นำจีน โดยกล่าวถึงยุทธศาสตร์ของมาเก๊าที่จะปรับโฉมจากแหล่งคาสิโนเป็นศูนย์การพักผ่อนและธุรกิจครบวงจร โดยใช้แต้มต่อจากการเป็นจุดเชื่อมระหว่างตะวันออกกับตะวันตกในการส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวและบันเทิง รวมทั้งเวทีการค้าระหว่างจีนกับกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส ซึ่งเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับสิ่งที่นาย Chui Sai On ผู้บริหารสูงสุดมาเก๊าได้กล่าวในงานเลี้ยงรับรองในโอกาสครบรอบ 18 ปี การสถาปนาเขตบริหารพิเศษมาเก๊า สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560

          เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งก็มีการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติเช่นกัน แม้จะไม่ได้เป็นกรณีสุดโต่งเหมือนมาเก๊า แต่ก็ใช้ประโยชน์จากประสบการณ์ของมาเก๊าได้ นอกจากนี้ ไทยและมาเก๊ายังมีศักยภาพที่จะมีความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวได้อีกไม่น้อย โดยปัจจุบันมีชาวไทยเดินทางไปมาเก๊าถึงปีละกว่า 2.3 แสนคน ขณะที่ชาวมาเก๊าเดินทางมาไทยปีละ 5 หมื่นคน ซึ่งแม้จะไม่มาก แต่ก็คิดเป็นเกือบ 1 ใน 10 ของประชากร และที่สำคัญการพัฒนาการท่องเที่ยวของมาเก๊าคงยังไม่เป็นการแข่งขันแย่งชิงตลาดกับไทยโดยตรง (ตราบที่ไทยยังไม่ได้มีนโยบายเปิดคาสิโน แต่อาจจะมีบ้างในส่วนของตลาด MICE) แต่จะเป็นโอกาสสำหรับคนไทยที่ประสงค์จะทำงานในธุรกิจด้านโรงแรมและบริการ รวมทั้งธุรกิจไทยที่เกี่ยวข้องกับสาขาเหล่านี้ เนื่องจากมาเก๊ามีความต้องการแรงงานมีฝีมือในธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว รวมทั้งสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องอย่างมาก (เช่น ของตกแต่งโรงแรม อาหารไทย สปา ฯลฯ) และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แถมยังเงินหนาอีกต่างหาก ดังนั้น หากแรงงานและธุรกิจไทยต้องการจะจับตลาดนี้ ก็คงต้องเร่งพัฒนาศักยภาพและทักษะที่เหมาะสมเพื่อคอยรองรับแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษากวางตุ้ง ภาษาจีนกลาง ภาษาอังกฤษ หรือกระทั่งภาษาโปรตุเกส ซึ่งล้วนแล้วแต่จะเป็นประโยชน์สำหรับการทำงานและธุรกิจของตนต่อไป

ขอขอบคุณที่มาข่าวจาก :  www.globthailand.com

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

sendLINE

Comment