5,000 สินค้ารับส้มหล่น! สงครามการค้าช่วยให้มีโอกาสโตเพิ่ม

1.5K



สศช.ชี้ช่องเอกชนหาช่องส่งออกรับประโยชน์หลังพบข้อมูลสินค้า 5,000 รายการมีโอกาสโตเพิ่ม

นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยที่ชะลอตัวตั้งแต่ปลายปี 2561ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะการส่งออกของประเทศสำคัญโดยเฉพาะในประเทศที่มีการส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีนที่ได้รับผลกระทบทั้งจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ต่ำสุดในรอบ 28 ปี

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละเอียดข้อมูลการส่งออกของไทยในไตรมาส 4/2561 พบว่ารายการสินค้าที่อยู่ในกลุ่มสินค้าที่จีนและสหรัฐมีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้น 4.8% โดยเป็นสินค้าที่สหรัฐมีมาตรการต่อจีนเติบโต 10.3% ส่วนสินค้าที่จีนมีมาตรการต่อสหรัฐ 4.1% ขณะที่การส่งออกของสินค้าที่อยู่นอกกลุ่มที่อยู่นอกมาตรการทางการค้าปรับตัวลดลง 1.1%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการการกีดกันทางการค้าในตลาดสหรัฐและจีน พบว่าสินค้าที่การส่งออกขยายตัวได้ดีในตลาดสหรัฐส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจากจีน เช่น เม็ดและผงของเหล็กถลุงส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เส้นใยสังเคราะห์ สารประกอบออร์แกโน ยางนอกชนิดใช้กับรถยนต์นั่ง อุปกรณ์ติดตั้งของหลอดและท่อ เครื่องจักรไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโทรศัพท์

เช่นเดียวกับสินค้าที่ขยายตัวได้ดีในตลาดจีนก็เป็นสินค้าที่จีนเพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ ได้แก่ ซอสปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ยิปซัมรวมทั้งปาสเตอร์ โพลีเมอร์ของสไตรีน ในลักษณะขั้นปฐมส่วนประกอบที่ใช้กับเครื่องจักร เครื่องส่งสำหรับวิทยุโทรทัศน์ ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ

นายวิชญายุทธ กล่าวว่า จากรายการสินค้าที่ สศช.รวบรวม พบว่ามีกว่า 5,000 รายการที่ผู้ส่งออกไทยจะได้ประโยชน์ชัดเจนจากมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งพบว่าบางรายการมูลค่าการส่งออกขยายตัวหลายร้อยเปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาส3/2561 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิตไทย-จีน เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ ในขณะที่ผลกระทบผ่านห่วงโซ่การผลิตไทย-สหรัฐ เพื่อส่งออกไปจีนไม่มีความชัดเจนมากนัก

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนว่าการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่เกิดจากการกีดกันทางการค้าเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะสูงกว่าผลกระทบด้านลบที่เกิดผ่านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่การผลิต

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  www.posttoday.com

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

 

 

 

sendLINE

Comment