อุตฯยานยนต์ไทยจ่อศูนย์กลางยานยนต์โลก โหมโรง“Automotive Summit 2015” รับเออีซี

2.4K



อุตฯยานยนต์ไทยจ่อศูนย์กลางยานยนต์โลก โหมโรง“Automotive Summit 2015” รับเออีซี



           สถาบันยานยนต์ ผนึก รี้ด เทรดเด็กซ์ หนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและอาเซียนผ่านเวที Automotive Summit เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ภายใต้กระแสการแข่งขันจากพันธมิตรเออีซี ชี้หลังเกิดเออีซี นักลงทุนต่างชาติทะลักเข้าสู่อาเซียนยึดหัวหาดอุตสาหกรรมหลัก เตือนผู้ประกอบการไทยเตรียมรับมือคู่แข่งจากอีก 9 ประเทศ แนะใช้จุดแข็งด้านเทคโนโลยีพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างความได้เปรียบทางการตลาด พร้อมเชิญชวนร่วมงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2015 ชมเทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ครบครันที่สุด ระหว่างวันที่ 24 – 27  มิถุนายน 2558 ณ ไบเทค

          นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ เปิดเผยถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปัจจุบันว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด จนปัจจุบันไทยมีความสามารถในการผลิตรถยนต์ประมาณ 2.8 ล้านคันต่อปี แต่เพราะตลาดมีการชะลอตัว จึงทำให้ไทยไม่สามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มที่ โดยคาดว่าในปีนี้ ไทยจะมียอดการผลิตประมาณ 2.15 ล้านคัน อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ไทยจะกลับมามียอดการผลิตเพิ่มขึ้นในปีหน้า จากโครงการอีโคคาร์ระยะที่ 2 รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่คิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปี 2559  และการเปิดเผยข้อมูลรถให้กับประชาชน (ECO STICKER) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในไตรมาสแรกปีหน้า อนึ่ง การก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในสิ้นปีนี้ จะส่งผลทำให้มีการเปิดการค้าเสรีเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้มีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีไทยเป็นฐานการผลิตหลัก

          ในส่วนของผลกระทบจากเออีซีที่มีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายวิชัยกล่าวว่า การเกิดเออีซีจะทำให้หลายๆ มิติเปลี่ยนไป เช่น ตลาดใหญ่ขึ้น และผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 600 ล้านคน แต่ก็จะมีคู่ค้าเพิ่มขึ้นจากอีก 9 ประเทศในอาเซียน ส่งผลให้มีการแข่งขันในด้านการพัฒนาคุณภาพของสินค้า เนื่องจากการกีดกันทางภาษีมีแนวโน้มลดลงจนเป็นศูนย์ ดังนั้น ประเทศที่มีความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีจึงมีโอกาสสูงกว่า

          โดยในปี 2557 ทวีปอาเซียนมีปริมาณการผลิตรถยนต์ ทั้งสิ้น 3,984,877 คัน โดยประเทศที่มีความสามารถในการผลิตรถยนต์หรือจักรยานยนต์ได้ในประเทศตนเองมี อยู่ 5 ประเทศ คือ กลุ่ม ASEAN 5 ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ  ด้วยจุดแข็งประเทศไทย คือ 1.ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีความชำนาญในการผลิตสูง แรงงานมีประสบการณ์และมีความชำนาญเป็นอย่างดี 2. มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็ง มีเครือข่ายผู้ผลิตต้นน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมาก  3. ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก 4. ผู้ผลิตรถยนต์ เช่น ญี่ปุ่น มีฐานการผลิตขนาดใหญ่และมีการลงทุนโครงการใหญ่จำนวนมากในไทย

          สำหรับแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในฐานะอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่ง ของประเทศ  นายวิชัยกล่าวว่า ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อน และภาคเอกชนเป็นฝ่ายประสานผลักดันให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยทางสถาบันยานยนต์ได้ร่วมกับบริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์  จัดสัมมนาเชิงวิชาการ Automotive Summit 2015 ภายใต้งาน Manufacturing Expo 2015 ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค ในปีนี้ได้มุ่งเน้นการสัมมนาเชิงวิชาการ ด้านมาตรฐานการทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน เทคโนโลยีด้านยานยนต์ เทคโนโลยีด้านการทดสอบ “เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และในภูมิภาคอาเซียน มุ่งสู่ศูนย์กลางยานยนต์โลก” โดยมีผู้สนับสนุนหลัก อาทิ บริษัท ฟอร์ด เซอร์วิส (ประเทศไทย) บริษัท บ๊อซ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด และอีกหลายหน่วยงานจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา

         ด้านนายสุทธิศักดิ์ วิลานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัด กล่าวถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะแหล่งลงทุนชั้นนำสำหรับนักอุตสาหกรรมทั่ว โลกว่า จากข้อมูลที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมแถลงล่าสุด ระบุว่า ยอดขยายกิจการในช่วงสิบเดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นถึง  170% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดขออนุญาตประกอบกิจการใหม่ และขยายกิจการรวม  4,445 โรงงาน มูลค่าการลงทุนรวม 469,429.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกิจการรถยนต์มีการลงทุนสูงสุดถึง 12,298 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมโลหะ การ ปี 2014 ที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 83,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2013 ส่วนการนำเข้าเครื่องจักร เพื่อการขึ้นรูปสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และที่เกี่ยวข้อง ปี 2014 มีมูลค่าทั้งสิ้น 18,000 ล้านบาท สูงขึ้น 8% 

          ในส่วนของการจัดงานสัมมนา Automotive Summit 2015 สถาบันยานยนต์ และรี้ดฯ ได้มีความร่วมมือระหว่างกันมาเป็นปีที่ 3 แล้ว และในปีนี้เป็นการจัดงานภายใต้แนวคิด “ASEAN the Emerging Automotive Hub of the World” หรือ “อาเซียน..มุ่งสู่ศูนย์กลางยานยนต์โลก”  โดยมุ่งเน้นไปที่คำว่า “ทดสอบ มาตรฐาน และเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สัมมนาดังกล่าวนับเป็นไฮไลท์กิจกรรมภายในงาน  “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2015” มหกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ครบครันที่สุด ซึ่งจะนำเสนอความครบครันทางเครื่องจักรเพื่อการผลิต เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีแม่พิมพ์และการขึ้นรูป เครื่องมือสำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโซลูชั่นด้านการเตรียมพื้นผิวและการเคลือบผิว จากเทคโนโลยีต้นตำรับ 1,600 แบรนด์จาก 46 ประเทศ และผู้เข้าชมคุณภาพกว่า 52,000 รายจากวงการการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุนทั่วอาเซียนที่ต้องการต่อยอดและ เสริมความสามารถในการแข่งขันอย่างหลากหลาย   

          “แมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2015” ระหว่างวันที่ 24 -27 มิถุนายน 2558 ณ ไบเทค ประกอบด้วย 3 งานหลัก คือ InterMold Thailand สำหรับการผลิตแม่พิมพ์และการขึ้นรูป Automotive Manufacturing สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ Assembly Technology สำหรับระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีการประกอบ รวมทั้งงานแสดงร่วมอีก 3 งาน คือ Industrial Components and Subcontracting งานเพื่อการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรม NEPCON Thailand งานแสดงเทคโนโลยีการประกอบ การตรวจวัด และการทดสอบสำหรับการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และ Surface & Coatings งานแสดงเทคโนโลยีและอุปกรณ์การเตรียมพื้นผิว สี และการเคลือบผิวโลหะ โดยจากการเดินสายโรดโชว์ทั้งในและต่างปรเทศอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้ว่ามีนักอุตสาหกรรมสนใจตอบรับเข้าร่วมชมงานอย่างมากมาย อาทิ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นเลือกไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์อันดับหนึ่ง ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีญี่ปุ่นอีกหลายร้อยราย ตอบรับเข้าร่วมงานนี้เพื่อมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ คาดเงินสะพัดทางธุรกิจไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท

 

-ข้อมูลจาก http://data.thaiauto.or.th/iu3/index.php?option=com_flexicontent&view=items&cid=103&id=3186&Itemid=150&news_id=2520

ภาพข่าวจาก http://www.manager.co.th/Motoring/ViewNews.aspx?NewsID=9580000059742

 

sendLINE

Comment