พาสปอร์ต 10 เรื่องน่ารู้!

2.9K



รู้ไว้ก็ดี! คู่มือเจาะ 10 เรื่องพาสปอร์ตน่ารู้

 
พาสปอร์ต
 

     สำหรับนักเดินทางตัวยง คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเดินทางไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อท่องเที่ยว ศึกษาต่อ หรือเจรจาทางธุรกิจ สิ่งแรกที่คุณต้องมีก็คือ หนังสือเดินทาง หรือที่เรียกกันติดปากว่า พาสปอร์ต แต่สำหรับนักเดินทางน่าใหม่ อาจจะยังมีข้อสงสัยว่าการจะได้มันมาสักเล่ม ต้องทำไง?

1. พาสปอร์ต คืออะไร?

    พาสปอร์ต (Passport) หรือ หนังสือเดินทาง เป็นเอกสารที่ใช้แสดงความเป็นตัวตนของเรา เวลาเราจะเดินทางไปต่างประเทศ เอกสารนี้เป็นสากลใช้ได้ทั่วโลก และยังเป็นสมุดบันทึกการเดินทางเข้าออกประเทศต่างๆ อีกด้วย

 
พาสปอร์ตสัญชาติอเมริกัน
 

2. แล้ว 'พาสปอร์ต' ต่างจาก 'วีซ่า' ยังไง?

    พาสปอร์ต เป็นเอกสารที่ออกให้คนสัญชาติของตนใช้เป็นเอกสารแสดงตนในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ก่อนจะเดินทางต้องนำพาสปอร์ตไปขอวีซ่าจากสถานทูต/สถานกงสุลของประเทศที่ต้องการจะไป เรียกว่าเป็นเหมือนบัตรประชาชนเวอร์ชั่นรอบโลก ที่เราต้องมีไว้แสดงตน

    แต่ วีซ่า คือ เอกสารที่แต่ละประเทศจะขอเรียกดูจากคนสัญชาติอื่น เพื่ออนุญาตให้คนสัญชาติอื่นๆ เดินทางเข้ามายังประเทศตนได้ โดยกำหนดให้ยื่นเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาก่อนว่าจะอนุญาตหรือไม่ เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบัตรผ่านเข้าประเทศ

3. ประวัติหนังสือเดินทางไทย

    เริ่มมีหลักฐานและข้อมูลในสมัย ร.5 มีการออกเอกสารเพื่อใช้ในการเดินทางสำหรับคนไทย โดยออกเป็นหนังสือราชการที่เขียนด้วยลายมือ กำหนดตราประทับคือตราพระคชสีห์น้อย ตราพระราชสีห์น้อย หรือตราสุครีพ ซึ่งเป็นรูปแบบที่แน่นอนบนเอกสาร มีกำหนดอายุ 1 ปี

    เริ่มแรกเอกสารนี้ใช้เดินทางข้ามเขต เมือง มณฑลภายในประเทศเท่านั้น ต่อมาทางราชการสยามได้มีการกำหนดกฎเกณฑ์ว่าด้วยการเดินทางออกนอกพระราชอาณาเขต โดยกำหนดให้คนสยามที่จะเดินทางไปต่างประเทศต้องมีจดหมายหรือหนังสือเดินทางจากเจ้าเมืองทุกคน

    ต่อมา มีการปรับเปลี่ยนให้ใช้หนังสือเดินทางไปต่างประเทศที่พิมพ์ด้วยภาษาฝรั่งเศส 2 หน้า โดยหน้าแรกเป็นหนังสือราชการที่มีข้อความขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง ส่วนหน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง มีอายุการใช้งาน 1 ปี

 
หนังสือเดินทาง
 

4. พาสปอร์ตไทยในปัจจุบัน

    หนังสือเดินทางไทย (Thai passport) เป็นหนังสือเดินทางที่ออกให้เฉพาะประชาชนไทย โดยกองหนังสือเดินทาง กระทรวงการต่างประเทศ สามารถออกในประเทศไทยโดยหน่วยงานในสังกัดกองหนังสือเดินทาง บางกรณีอาจจะออกได้ที่สถานเอกอัครราชทูตในต่างประเทศ หรือสถานกงสุลไทยทั้ง 86 แห่งทั่วโลก

    พาสปอร์ตไทยสำหรับประชาชนทั่วไป รุ่นปัจจุบันจะมีสีแดงเลือดหมู โดยมีตราครุฑอยู่ตรงกลางที่ปกด้านหน้า และมีคำว่า "หนังสือเดินทาง ประเทศไทย" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ด้านบนสุด ส่วนคำว่า "THAILAND PASSPORT" (อยู่ต่างบรรทัดกัน) อยู่ใต้ตราครุฑ ด้านล่างสุดจะเป็นสัญลักษณ์ของหนังสือเดินทางที่มีข้อมูลทางชีวภาพ (biometric passport) อักษรและสัญลักษณ์ที่หน้าปกเป็นสีทอง

5. ขนาด

    หนังสือเดินทางไทยมีขนาดกว้าง 8.5 เซนติเมตร ยาว 12.5 เซนติเมตร มีจำนวนหน้าทั้งหมด 50 หน้า

 
พาสปอร์ต
 

6. ข้อมูลภายในเล่ม

    จะบรรจุข้อมูลจำเพาะของผู้ถือหนังสือเดินทาง หนังสือเดินทางประเทศไทยจะมีข้อมูล 2 ภาษา เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษดังต่อไปนี้

    - รหัส (Type) 'P' อักษรย่อสำหรับคำว่า "Passport"
    - ประเทศ (Country code) "THA" สำหรับประเทศไทย
    - หนังสือเดินทางเลขที่ (Passport No.) มีรูปแบบเป็น A123456 (ตัวอักษรหนึ่งตัว ตัวเลขหกหลัก)
    - นามสกุล (Surname) เป็นภาษาอังกฤษ
    - คำนำหน้าชื่อ ชื่อ (Title Name) เป็นภาษาอังกฤษ
    - ชื่อภาษาไทย (Name in Thai) ประกอบด้วยคำนำหน้า ชื่อ และนามสกุลเป็นภาษาไทย
    - สัญชาติ (Nationality) "THAI" สำหรับประชาชนไทย
    - วันเกิด (Date of birth) ในรูปแบบ DD-MMM-YYYY (วัน เดือน ปี ค.ศ.) เช่น 20 NOV 2006
    - เลขประจำตัวประชาชน (Personal No.)
    - เพศ (Sex) "M" สำหรับบุรุษ หรือ "F" สำหรับสตรี
    - ส่วนสูง (Height) หน่วยเป็นเมตร
    - สถานที่เกิด (Place of birth) โดยทั่วไปจะเป็นจังหวัดที่เกิด
    - วันที่ออก (Date of issue) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด
    - วันที่หมดอายุ (Date of expiry) ในรูปแบบเดียวกับวันเกิด โดยจะหมดอายุในอีก 5 ปีให้หลัง
    - ออกให้โดย (Authority) โดยทั่วไปจะเป็น "MINISTRY OF FOREIGN AFFAIR"
    - ลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง (Signature of bearer)

 
พาสปอร์ตต่างประเทศ
 

7. ประเภทของพาสปอร์ต

    - หนังสือเดินทางธรรมดา (หน้าปกสีแดงเลือดหมู) : ออกให้สำหรับประชาชนทั่วไป หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี

    - หนังสือเดินทางราชการ (หน้าปกสีน้ำเงินเข้ม) : หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี ผู้ถือต้องใช้ในราชการเท่านั้น ไม่สามารถนำไปใช้ในการเดินทางส่วนตัว ออกให้เฉพาะข้าราชการ

    - หนังสือเดินทางทูต (หน้าปกสีแดงสด) : ประเภทนี้จะมีอายุไม่เกิน 5 ปี ไม่สามารถต่ออายุเพิ่มได้ มีข้อกำหนดออกให้เฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้
        1. พระบรมวงศ์และพระนัดดาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
        2. พระอนุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าและคู่สมรส
        3. พระราชวงศ์และบุคคลสำคัญที่ราชเลขาธิการขอไปเป็นกรณีพิเศษ
        4. ประธานองคมนตรี และองคมนตรี
        5. นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี
        6. ประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานวุฒิสภา
        7. ประธานศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา และประธานศาลอุทธรณ์
        8. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด
        9. อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
        10. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ
        11. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งเดินทางไปราชการในต่างประเทศ
        12. ข้าราชการที่มีตำแหน่งทางการทูต ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ ณ ส่วนราชการในต่างประเทศ คู่สมรส และบุตร
        13. คู่สมรสที่ร่วมเดินทางไปกับบุคคลดังกล่าวในข้อ 2-8
        14. บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ หรือภายใต้สถานการณ์พิเศษที่มีความจำเป็น หรือเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติคุณของประเทศไทย

    - หนังสือเดินทางชั่วคราว (หน้าปกสีเขียว) : เป็นพาสปอร์ตที่ออกให้สำหรับพระภิกษุและสามเณรที่ได้รับอนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศตามนัยระเบียบมหาเถรสมาคม และออกให้ชาวมุสลิมที่เพื่อเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ มีอายุ 2 ปีเท่านั้น

 
พาสปอร์ต
 

8. ขั้นตอนการขอพาสปอร์ต

    - รับบัตรคิว
    - ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนที่มีเลข 13 หลัก
    - วัดส่วนสูง เก็บลายพิมพ์นิ้วมือนิ้วชี้ขวาและนิ้วชี้ซ้ายด้วยเครื่องสแกนข้างละ 2 ครั้ง และถ่ายรูป 2 ครั้ง
    - ชำระค่าธรรมเนียม 1,000 บาท (ถ้าให้ส่งไปให้ทางไปรษณีย์ เพิ่ม 35 บาท)
    - รับใบเสร็จรับเงิน และรับใบนัดรับเล่ม
    - กรณีที่ไม่สะดวกมารับเล่มเอง สามารถให้ผู้อื่นมารับแทนได้ โดยนำใบรับหนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ขอหนังสือเดินทาง และบัตรประชาชนของผู้รับแทน พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับแทน 1 ชุด เพื่อเป็นหลักฐานการรับหนังสือเดินทาง

9. พาสปอร์ตไทย ไปเที่ยวประเทศไหนได้บ้าง?

    สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่อยากไปท่องเที่ยวต่างแดน แต่ไม่อยากเสียเวลาไปทำวีซ่าล่วงหน้า ก็อาจจะเริ่มจากการไปเที่ยวในประเทศที่สามารถใช้เพียงพาสปอร์ตไทยเล่มเดียวก็เที่ยวได้ โดยมีประเทศต่างๆ ดังนี้

    - ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 90 วัน : อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี เกาหลีใต้ เปรู เอกวาดอร์ ปานามา

    - ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 30 วัน :  มาเลเซีย ลาว เวียดนาม ฮ่องกง มาเก๊า อินโดนีเซีย มองโกเลีย มัลดีฟส์ เซเชลส์ รัสเซีย แอฟริกาใต้ สิงคโปร์ ตุรกี

    - ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 21 วัน : ฟิลิปปินส์

    - ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 15 วัน : ญี่ปุ่น

    - ประเทศที่อนุญาตให้อยู่ได้ 14 วัน : กัมพูชา บรูไน บาห์เรน

 
passport
 

10. หน่วยงานที่ให้บริการทำพาสปอร์ต

กรุงเทพฯ ได้แก่
    - กรมการกงสุล แจ้งวัฒนะ อาคารกรมการกงสุล 123 ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทร. 0 2981 7171-99 โทรสาร 0 2981 7256
    - สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว บางนา- ศรีนครินทร์ ศูนย์การค้าธัญญาพาร์ค บางนา -ศรีนครินทร์ ชั้น 2 โซนอี โทรศัพท์ 02 136 3800 โทรสาร 02 136 3801
    - สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว ปิ่นเกล้า ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ชั้น 8 ถนนบรมราชชนนี โทร. 0 2884 8831, 0 2884 8838 โทรสาร 0 2884 8825

จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่
    - สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ ถนนโชตนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 0 5389 1535-6 โทรสาร 0 5389 1534

จังหวัดสงขลา ได้แก่
    - สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดสงขลา . ศาลากลางจังหวัดสงขลา (หลังเก่า) ชั้น 1 ถนนราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 9000 โทร. 0 7432 6510-1 โทรสาร 0 7432 6506

จังหวัดขอนแก่น ได้แก่
    - สำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราวจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ราชการ จังหวัดขอนแก่น ถนนศูนย์ราชการ โทร. 0 4324 2707, 0 4324 3462, 0 4324 2655 โทรสาร 0 4324 3441

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก http://www.thairath.co.th/content/501713

 

sendLINE

Comment