วัฒนธรรม "หลงรัก" สายใยคนอาเซียน
“ลงรักปิดทอง” ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยรู้กรรมวิธีว่าทำเช่นไร แถมเข้าใจไปเองว่าช่างคงจะนำยางสีดำจากต้นรักที่เราเก็บดอกมาร้อยพวงมาลัยถวายพระ ทาลงบนพื้นผิววัสดุต่างๆก่อนปิดทับด้วยแผ่นทองคำเปลว...หลงเข้าใจผิดมาหลายปี จนได้ไปฟังนักวิชาการและนักศิลปะพูดคุยในนิทรรศการ “หลงรัก” ทำให้ได้รู้ว่า “รักแท้” เป็นเช่นไร ชุตินันท์ กฤชนาวิน หนึ่งในผู้ร่วมสัมมนาให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยในโครงการตามหารักแท้ มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่ ตลอดเส้นทางมีต้นรักขึ้นอยู่มาก ทางเหนือเรียกว่า “ฮักหลวง” “รัก”...ไม่ใช่พืชล้มลุกแบบต้นดอกรักที่นำมาร้อยพวงมาลัย แต่เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในป่า แค่มีชื่อพ้องกันเท่านั้น รักชอบขึ้นตามป่าโปร่งแล้ง เป็นพืชตระกูลเดียวกับมะม่วง มะปราง มะม่วงหิมพานต์ ดอกมี 5-6 กลีบ คล้ายใบพัดเฮลิคอปเตอร์ เริ่มให้น้ำยางเมื่ออายุ 4-5 ปี แต่ถ้าต้องการน้ำยางคุณภาพชั้นหนึ่ง ต้นรักจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ชาวบ้านจะกรีดยางรักในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะได้น้ำรักคุณภาพดีที่สุด
ใน 1 แผลของการกรีดต้นรัก จะให้น้ำยางรักได้เพียง 3 ครั้งเท่านั้น รักแต่ละต้นจะนิยมกรีดแค่ 2-3 แผล แล้วนำกระบอกไม้ไผ่มารองทิ้งไว้ราว 7 วัน ถึงเก็บน้ำยางได้ น้ำยางรักสดๆจะมีสีขาวขุ่น พอสัมผัสอากาศ
สักพักน้ำยางจะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีดำ โครงสร้างของน้ำยางจะเชื่อมกันเป็นร่างแห ชาวบ้านจะนำยางรักไปเคลือบภาชนะจักสานจากไม้ไผ่ เพื่อทำให้ข้าวของเครื่องใช้แข็งแรงขึ้น กักเก็บน้ำได้ และทนทาน เพราะเมื่อยางรักแห้งจะแข็งตัวเป็นแผ่นฟิล์ม การแข็งตัวของยางรักคือกระบวนการโพลิเมอไรเซชั่น (Polymerization) เป็นแล็กเกอร์ตามธรรมชาติ “ต้นรัก ไม่ได้มีกฎหมายควบคุม ไม่มีกรรมสิทธิ์เจ้าของ เป็นไม้ที่เกิดขึ้นในป่าในเขา แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล แบ่งปันพึ่งพาอาศัยกัน รัก 1 ต้น อาจมีชาวบ้านหลายคนมาร่วมกรีดก็ได้ เรียกกันว่า “รักซ้อน” ที่เกิดในต้น “รักแท้” แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการแย่งรักกันจนอลเวง ชาวบ้านจะรู้เองว่าน้ำรักกระบอกไหนเป็นของตน” ต้นรักยังเติบโตได้ในภาคอีสาน แถบจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ เป็นจังหวัดที่อยู่ตามแนว เทือกเขาพนม “ดงรัก” นั่นเอง แต่ต้นรักอีสานจะไม่เหมือนต้นรักภาคเหนือ ลักษณะใบจะมนกว่า ลำต้นสูงและหนากว่า แต่รักภาคใต้จะหายากมาก เพราะคนที่นั่นส่วนใหญ่นิยมปลูกยางพารามากกว่า ทั้งที่ยางรักให้มูลค่ามากกว่า อีกทั้งบางคนแพ้รัก เพียงแค่สัมผัสเกสรที่ลอยตามลม จะมีอาการผื่นคันรุนแรง เป็นตุ่มใส แต่เป็นเรื่องแปลก หลังตัดต้นรักแล้วเอาไม้มาทำข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ คนที่แพ้รักสามารถสัมผัสไม้รักโดยไม่เกิดอาการแพ้อีก ลักษณะการกรีดน้ำยาง แต่ละภาคก็แตกต่างกัน ภาคใต้จะกรีดเพียงผิวของต้น ไม่เหมือนกับทางอีสานและเหนือ ซึ่งจะกรีดถึงแก่นของต้น มีนักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่าการกรีดยางรักของภาคใต้คล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่น ยางรักจะอยู่ที่ผิวของลำต้นเท่านั้น นับเป็นความเหมือนบนความต่างทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ หลายคนมีคำถามว่า...รักแท้...ยังมีอยู่หรือไม่? เป็นเช่นไร? เพราะปัจจุบันน้อยนักที่จะหาน้ำยางรักแท้ๆได้ เนื่องจากคนไทยไม่นิยมกรีดยางรักเป็นอาชีพ แต่ยังคงหาได้ไม่ยากตามแถบประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะที่รัฐฉาน ประเทศพม่า ยังมีผู้ประกอบอาชีพกรีดน้ำยางรักอยู่ ราคาอาจจะแพงสักหน่อย เพราะต้องด้นดั้นค้นหา แต่รับรองว่าน้ำรักที่ตามหา มีกลิ่นหอมยางไม้ เป็นรักคุณภาพดี...รักแท้...เหมาะแก่การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะชั้นเลิศ
ผศ.พจนก กาญจนจันทร ผู้ค้นคว้าในที่มาของรัก บอกว่า ต้นกำเนิดคำว่ารัก อาจมาจากภาษาเขมร แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอน เพราะเรียกกันตามถิ่นฐานของแต่ละประเทศ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวัฒนธรรมรักเกิดขึ้นเมื่อไหร่? อย่างไร? แต่ย้อนกลับไป 6-7 พันปีก่อน ในช่วงวัฒนธรรมหินใหม่ มีการค้นพบภาชนะเคลือบน้ำยางรัก ที่ประเทศจีน สันนิษฐานว่ารักอาจเกิดแถวเอเชียตะวันออก เพราะหลักฐานที่ค้นพบส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองจีน จึงคิดได้ว่าอาจมีการแพร่หลายทางวัฒนธรรมส่งต่อกันมาเรื่อยๆ อย่างสุสานโลงไม้ที่เคลือบด้วยยางรัก พบที่ลุ่มน้ำแยงซีของจีน เรื่องราวเกี่ยวกับยางรักในประเทศไทยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน มีการค้นพบโลงไม้ยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ 2,100 ปี ในถ้ำแห่งหนึ่งที่อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาได้ตั้งชื่อถ้ำนั้นว่า “ถ้ำโลงลงรัก” ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ มีผู้สนใจเข้าไปค้นคว้ามากมาย “อย่างที่วัดคลองลาน จ.สมุทรสาคร ย่านนาเกลือ แถวๆถิ่นเรืออับปาง มีการค้นพบเรือลักษณะอาหรับ ภายในเรือพบเครื่องปั้นดินที่เคลือบด้วยยางสีดำ มีความกว้างรอบฐานประมาณ 1 ฟุต สูงประมาณ 2 ฟุต อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ายางสีดำที่เคลือบรอบภาชนะที่ขุดพบเป็นยางรักหรือไม่” ผศ.พจนกให้ข้อมูล ขณะที่ พาฉัตร ทิพทัส นักจัดการอาวุโส สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวถึง “หลงรัก” ว่า ต่อยอดมาจากงานสัมมนาวัฒนธรรมรักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดโดยคณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 57 จากนั้นมิวเซียมสยามนำเรื่องราวมาขยายเป็นนิทรรศการ “หลงรัก” โดยรวบรวมเครื่องมือ เครื่องใช้ หัตถศิลป์ ตลอดจนโบราณวัตถุทรงคุณค่า ที่ถูกดัดแปลงมาจาก “ยางต้นรัก” ซึ่งมีส่วนถ่ายทอดวิถีชีวิตกลุ่มชนอุษาคเนย์ มาจัดแสดงและเปิดให้เข้าชมฟรีไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายนนี้ พาฉัตรยังเล่าถึงความสำคัญของยางรักว่า สมัยอยุธยา ราชสำนักสยามไม่อาจควบคุมหัวเมืองเชียงใหม่ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ป่าล้านนากลายเป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญในการป้อนรักให้กับพม่า ชาวสยามน่าจะใช้ยางรัก “น้ำเกลี้ยง” จากอีสานและกัมพูชา ซึ่งราชสำนักอยุธยามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกว่า “สำหรับชาวสยาม รักเป็นทั้งสินค้าและเป็นทั้งส่วย ลุ่มเจ้าพระยาไม่มีต้นรัก ยางรักจึงเป็นสินค้านำเข้าที่ราชสำนักสยามผูกขาด เพื่อใช้ในกิจการของรัฐและเพื่อการส่งออกเท่านั้น และเพราะสยามไม่มีรักให้ใครนี่เอง ราชสำนักจำต้องรุกคืบเข้าไปมีอำนาจเหนือรัฐตอนใน เพื่อครอบครองทรัพยากรของเมืองในอาณัติ ดินแดนเหล่านั้นต่างต้องส่งส่วยของป่าให้กับสยาม รัก...จึงเป็นเครื่องบรรณาการแสดงความภักดีต่อราชสำนักสยาม” ขณะเดียวกัน รักยังถูกนำมาเชื่อมร้อยผ่านทางวัฒนธรรมของผู้คนชาวอาเซียน ชาวลาว นิยมสร้างพระพุทธรูปจากไม้ลงรักปิดทอง พบได้ทั่วไปตั้งแต่เมืองหลวงพระบาง ทางเหนือ ไปถึงทางใต้แถบจำปาสัก เรื่อยมาถึงอีสานของไทย ส่วนงานเครื่องรักของคนพม่าจะเน้นที่เครื่องใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ ซุ้มพระ หรือแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปที่จำลองแบบมาจากราชบัลลังก์ในพระราชวังมัณฑะเลย์ อลังการด้วยรูปแบบการแกะสลักไม้และการลงรักปิดทองประดับกระจก ฝีมือประณีต คนแขมรจะใช้ “รักสมุก” ทำจากยางรักผสมชัน น้ำมันยาง และผงถ่าน มาตกแต่งลวดลายบนหน้ากากหัวโขน ที่ทำจากงานเปเปอร์มาเช่ แล้วลงรัก ปิดทอง ระบายสีสวยงาม ขณะที่รักของสหายเวียดนาม จะใช้ยางรักมาสร้างงานจิตรกรรมเครื่องเขินร่วมสมัย เรียกกันว่า “ภาพวาดเซินหม่าย” นอกจากนี้ยังใช้รักทำเครื่องเขิน จาน ชาม จานรองแก้ว เป็นสินค้าที่ระลึกขายให้นักท่องเที่ยว ข้ามไปยังประเทศญี่ปุ่น อีกชนชาติหนึ่งที่ใช้ยางรักมายาวนาน ชาวอาทิตย์อุทัยเรียกยางรักว่า “อุรุชิ” และเรียกเครื่องเขินว่า “ชิกกิ” เครื่องเขินญี่ปุ่นจะทำจากไม้กลึงเคลือบยางรัก ภายนอกสีดำ ทาด้วยสีแดงด้านใน เช่น ถาดเบนโตะ ถ้วยซุบมิโซ ที่เราคุ้นเคยเพราะใช้กันตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไป “สายใยวัฒนธรรมรักยึดโยงไปทั่วเอเชีย คนบนดอยเก็บรักป้อนเข้าสู่หัวเมือง คนเมืองส่งขายเป็นสินค้ามีค่า บ้างส่งเป็นส่วยบรรณาการแด่เมืองหลวง ฝ่ายช่างฝีมือต่างชาติพันธุ์ ก็ถ่ายทอดทักษะการทำเครื่องรักกันไปมา เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องยาวนาน พูดแบบภาษารักรักได้ว่า วัฒนธรรม “หลงรัก” ช่วยประสานผู้คนอาเซียนให้รักกัน” พาฉัตรกล่าวทิ้งท้าย.
ข้อมูล : http://www.thairath.co.th/content/503898 |

Comment
New!

สถาปนิก 68 ทบทวนทิศทาง Past Present Perfect

หากท่านอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี ไม่ควรพลาดงานนี้ !! งาน Thailand Oil & Gas Roadshow 2024

สถาปนิก’68 ทบทวนทิศทาง Past Present Perfect

แบรนด์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างชั้นนำกว่า 600 บริษัท ตบเท้าร่วมงานสถาปนิก’67 พร้อมโชว์นวัตกรรมสุดล้ำ
Popular

ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน

สินค้าส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรกของไทย

การส่งกำลังโดยใช้สายพาน

ประเภทสกรูและน็อต อุตสาหกรรม