ชื่อเว็บไซต์-อีเมลพิมพ์ภาษาไทย กำลังจะมา...

1.8K



ชื่อเว็บไซต์-อีเมลพิมพ์ภาษาไทย กำลังจะมา...

 
ชื่อเว็บไซต์-อีเมลพิมพ์ภาษาไทย กำลังจะมา
 


เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นในเอเชียแปซิฟิก ไอแคนได้ร่วมกับหน่วยงานในแต่ละประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานโดเมนเนมด้วยการพิมพ์ภาษาท้องถิ่น


ไม่ได้พูดเกินจริง เพราะมีการนำร่องใช้งานกันบ้างแล้ว และอยู่ระหว่างสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน


รีนาเลีย อับดุล ราฮิม สมาชิกของคณะกรรมการไอแคน (The Internet Corporation for Assigned Names and Numbers : ICANN) องค์กรระดับนานาชาติที่มีหน้าที่หลักในการจัดสรรดูแลโดเมนเนมและไอพีในระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลก กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3,000 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 15 ปีที่แล้วที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพียง 500 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ 2563 เมื่ออุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้ หรือ อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (IoT) จะทำให้มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มเป็น 4,000 ล้านคน


“ในจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 3,000 ล้านคนทั่วโลก พบว่าอยู่ในเอเชีย 45.6% เกือบครึ่งของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก และคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่จะเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ล้านคน จะมาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากจำนวนประชากรของเอเชียแปซิฟิกในประเทศต่าง ๆ ยังมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตน้อย หรือมีการเข้าถึงเพียง 34.8%”


รีนาเลีย กล่าวต่อว่า เพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นในเอเชียแปซิฟิก ไอแคนได้ร่วมกับหน่วยงานในแต่ละประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานโดเมนเนมด้วยการพิมพ์ภาษาท้องถิ่น (Internationalised Domain Names : IDN) โดยทั่วโลกมีภาษาที่ใช้งานกันมากกว่า 6,000 ภาษา มีการจัดทำโดเมนเนมแล้ว 47 ภาษาใน 37 ประเทศ และได้มีการร่วมกันจัดทำระเบียบเพื่อจัดสรรและบริหารการจดทะเบียนโดเมนเนมแล้วใน 28 ภาษา ส่วนการจัดทำร่างระเบียบเพื่อจัดสรรและบริหารการจดทะเบียนโดเมนเนมเป็นภาษาท้องถิ่นได้มีการพูดคุยกันแล้วในกัมพูชา ลาว เมียนมา และไทย


สำหรับโครงการ IDN คือการจัดตั้งโดเมนเนมที่ใช้ตัวอักษรในภาษาที่มีอยู่หลากหลายทั่วโลก ซึ่งต่างก็มีกระบวนการเขียนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งโดเมนเนมภาษาท้องถิ่นเป็นการเพิ่มสมรรถนะให้ระบบอินเทอร์เน็ตรองรับภาษาต่าง ๆ ได้ เช่น ภาาษาไทย ฮินดู จีน ลาว เมียนมา เป็นต้น เป็นการผลักดันให้ก้าวเข้าสู่ความหลากหลายของภาษา และทำให้คนหลายพันล้านคนสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ได้ แม้ไม่รู้ภาษาอังกฤษ


นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน การพัฒนาระเบียบเพื่อจดโดเมนเนมด้วยตัวอักษรภาษาไทยจะเปิดโอกาสให้คนไทยอีกเป็นจำนวนมากเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ก่อนหน้านี้รัฐบาลไทยประกาศว่าในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมแห่งเศรษฐกิจดิจิตอล ดังนั้น สพธอ. จึงเป็นหัวเรือในการเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานในด้านระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายการเป็นสังคมแห่งเศรษฐกิจดิจิตอล นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่า เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายผลักดันเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล ดังนั้น อีเมลและโดเมนเนมของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นภาษาอังกฤษจึงยังเป็นปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนคนไทย ในขณะที่ปริมาณการใช้งานโทรศัพท์มือถือที่มีอยู่ถึง 110 ล้านเลขหมายจะเป็นช่องทางให้ผู้ใช้งานเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้


โดเมนเนมที่ใช้ภาษาไทยขณะนี้เริ่มมีการใช้งานแล้ว เช่น ไปรษณีย์ไทย แต่ยังไม่แพร่หลายยังต้องประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักและสร้างความเข้าใจในการใช้งาน ส่วนการจัดทำร่างระเบียบเพื่อจัดสรรและบริหารการจดทะเบียนโดเมนเนมเป็นภาษาท้องถิ่น ยังต้องหาข้อสรุปเกี่ยวกับตัวอักษรที่อนุญาตให้ใช้งานและตัวอักษรที่ห้ามใช้งาน คำที่ห้ามใช้ ลิขสิทธิ์ของชื่อที่จะใช้ รวมทั้งลำดับการพิมพ์ตัวอักษรและพยัญชนะในแต่ละคำ คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 6 เดือน ส่วนปลายปีนี้จะมีการเปิดใช้ชื่ออีเมลที่พิมพ์ด้วยภาษาไทย โดยมองว่าอาจเริ่มใช้ในหน่วยงานการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เพราะเป็นหน่วยงานที่ต้องติดต่อสื่อสารกับประชาชนมากที่สุด” นายวรรณวิทย์ กล่าว


รออีกนิดเดี๋ยวคงมีชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาไทยให้พิมพ์กันอย่างแพร่หลาย รวมทั้งสามารถส่งอีเมลด้วยชื่ออีเมลที่เป็นภาษาไทยซึ่งง่ายต่อการติดต่อสื่อสาร.


น้ำเพชร จันทา

@phetchan

 


ข้อมูลและรูปภาพ : http://www.dailynews.co.th/it/344115

sendLINE

Comment